หน่วยการเรียนที่ ๓: ความรู้เกี่ยวกับจิตรกรรมไทย

    ความหมายของจิตรกรรมไทย
   จิตรกรรมไทย หมายถึง ภาพเขียนที่มีลักษณะเป็นแบบอย่างของไทยที่แตกต่างจากศิลปะของชนชาติอื่นอย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีอิทธิพลศิลปะของชาติอื่นอยู่บ้าง แต่ก็ดัดแปลง คลี่คลาย ตัดทอน หรือเพิ่มเติมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองได้อย่างสวยงามลงตัว มีวิวัฒนาการทางด้านรูปแบบและวิธีการมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต จิตรกรรมไทยเป็นลักษณะอุดมคติ เป็นภาพ 2 มิติ โดยนำสิ่งใกล้ไว้ตอนล่างของภาพ สิ่งไกลไว้ตอนบนของภาพ ใช้สีแบบเอกรงค์ คือ ใช้หลายสี แต่มีสีที่โดดเด่นเพียงสีเดียว 
   จิตรกรรมไทย เป็น วิจิตรศิลป์อย่างหนึ่ง ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า มีเรื่องที่เกี่ยวกับ ศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการแสดงการเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ ของแต่ละยุคสมัยและสาระอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพจิตรกรรมไทย วิวัฒนาการของงานจิตรกรรมไทย แบ่งออกตามลักษณะรูปแบบทางศิลปกรรมที่ปรากฏในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบ คือ 1. จิตรกรรมไทยแบบประเพณี และ 2. จิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย

1. ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี
     การแสดงออกของช่างเขียนโบราณประกอบจากปัจจัยสำคัญหลายอย่าง ที่ทำให้จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมีคุณค่าแตกต่างไปจากจิตรกรรมแนวตะวันตก เรื่องราวเนื่องในพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติหรือชาดก ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาพสืบทอดความนิยมกันมาช้านาน และแม้จะเป็นเรื่องราวที่ซ้ำซากแต่ก็มีความแตกต่างกันของแต่ละยุคสมัย ตามทัศนคติของสังคมที่แปรเปลี่ยน อันเป็นผลต่อการแสดงออกของช่างเขียนด้วย
   คัมภีร์เล่มเดียวกันหรือเนื้อเรื่องเดียวกันเมื่อช่างนำมาเขียนเป็นภาพเล่าเรื่องก็มีความแตกต่างกันด้วย ขึ้นอยู่กับช่างหรือสังคมนั้นให้ความสำคัญต่อประเด็นความเชื่อในเนื้อหาตอนใด เช่นภาพเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติที่เขียนขึ้นสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา บางแห่งให้ความสำคัญแก่จำนวนอันมากมายจนนับไม่ได้ของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้น เสด็จมาตรัสรู้บนโลกนี้ก่อนพระพุทธเจ้าของเรา (พระศรีศากยมุนี) ดังกล่าวนี้มีระบุไว้ในคัมภีร์ของพุทธศาสนาโดยมิได้ระบุรายพระนามของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติเหล่านั้น ช่างเขียนนำมาแสดงเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าเรียงรายเป็นแถว แต่ละแถวเรียงซ้อนกันจนเต็มผนัง ส่วนจิตรกรรมบางแห่งก็เขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้าเรียงกันเพียงจำนวน ๒๔ หรือ ๒๘ พระองค์ อันเป็นจำนวนอดีตพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกนี้ซึ่งคัมภีร์เล่มเดียวกันได้ระบุพระนามของแต่ละพระองค์ไว้
    การเลือกให้ความสำคัญตอนใดตอนหนึ่งในคัมภีร์ คงสะท้อนศรัทธาความเชื่อที่ผิดแผกกันไปบ้าง เรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติได้รับความนิยมน้อยลงในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ภาพที่มีอยู่กลับเป็นภาพเล่าเรื่องมีหลายตอนต่อเนื่องกันแตกต่างจากเรื่องเดียวกันที่เขียนขึ้นเมื่อกว่า ๔๐๐ ปี ที่ผ่านมา
    แนวความนิยมในการแสดงเรื่อง และลักษณะของภาพที่แตกต่างกันแต่ละสมัย ช่วยให้ ทราบกำหนดอายุก่อนหรือหลังของภาพจิตรกรรมซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ - โบราณคดี และทำให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านแนวความคิดที่คลี่คลายปรับเปลี่ยนไปด้วย
    ภาพเล่าเรื่องนิทานชาดกที่เขียนกันในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เขียนเป็นภาพเล่าเรื่องด้วยฉาก เหตุการณ์เดียวมีภาพบอกเรื่องราวอยู่อย่างจำกัดเพียงเพื่อให้ทราบเรื่องราวเฉพาะตอนสำคัญเพียงตอนเดียว ตัวอย่างเช่น นิทานชาดกเรื่องมหาชนก ที่ช่างเลือกเขียนเพียงฉากเรือของพระมหาชนกที่อับปางอยู่กลางทะเล มีภาพนางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนกให้รอดพ้นจากการจมน้ำแต่เรื่องเดียวกันนี้ที่เขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นิทานชาดกเรื่องดังกล่าวมีฉากเหตุการณ์อื่นเพิ่มขึ้น
    รายละเอียดที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังมากขึ้น เปิดโอกาสทำให้เราสามารถศึกษาแง่มุมต่างๆ ทางประวัติศาสตร์สังคมขนบประเพณีที่แฝงอยู่ในภาพมากขึ้นด้วย จึงเท่ากับว่าจิตรกรรมไทยแบบประเพณีเป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์ได้อย่างหนึ่ง
    จิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติก็เช่นกัน ตอนต่างๆ ในพุทธประวัติได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพอย่างจำกัด ที่เรียกว่า เหตุการณ์ตอนเดียวระยะหลังจึงมีรายละเอียดประกอบฉากมากขึ้นทุกทีโดยแบ่งเป็นฉากย่อยๆเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นพัฒนา-การเช่นเดียวกับภาพเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติและเรื่องชาดกที่กล่าวมาแล้ว
     การคลี่คลายของลักษณะของจิตรกรรมนอกจากช่วยให้เราสามารถสังเกตความแตกต่างของภาพ และแนวความคิดในการแสดงออกที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยแล้ว ยังสะท้อนแนวความคิดวิธีการของช่างเขียนที่แตกต่างไปตามยุคสมัยด้วย กล่าวคือ
     การแสดงเรื่องเล่าด้วยภาพเหตุการณ์ตอนเดียวของช่างสมัยต้นกรุงศรีอยุธยามีลักษณะในเชิงสัญลักษณ์ เพราะด้วยฉากเหตุการณ์ตอนเดียวก็สื่อให้ผู้ดูนึกถึงเรื่องราวได้ตลอดทั้งเรื่องช่างเขียนเลือกเหตุการณ์ในท้องเรื่องมาเขียนเป็นภาพ ย่อมเลือกเหตุการณ์ที่เด่นเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนของเรื่องราวทั้งหมด
    เมื่อการเขียนภาพเชิงสัญลักษณ์คลี่คลายไปในระยะหลัง โดยสร้างฉากเหตุการณ์เพิ่มขึ้น การแสดงออกของช่างจึงสื่อความทางด้านราย-ละเอียดมากกว่าก่อน เป็นช่องทางที่ช่างได้แสดงศิลปะของตนโดยสร้างฉากเหตุการณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
   รายละเอียดต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นต้องการความสามารถในการออกแบบ ควบคุมทุกสิ่งที่ปรากฏเป็นภาพให้มีความสอดคล้องแนบเนียน ทำให้ผู้ดูภาพเกิดความเพลิดเพลินกับฉากเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน จิตรกรรมที่คลี่คลายมาเป็นลักษณะเช่นนี้ เป็นภาพเล่าเรื่องอย่างแท้จริงยิ่งไปกว่าจิตรกรรมที่แสดงฉากสัญลักษณ์ ซึ่งแสดงถึงภาพเหตุการณ์ตอนเดียว
    ความแตกต่างดังกล่าว ต่างก็มีคุณค่าและมีความหมายโดยเฉพาะกล่าวคือ ช่างเขียนสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาแสดงความสามารถในการสื่อเรื่องราวเชิงสัญลักษณ์ แสดงถึงภูมิปัญญาในการคัดเลือกความเด่นชัดของเรื่องออกเป็นภาพเพียงเหตุการณ์ตอนเดียวก็สามารถสื่อความได้ทั้ง เรื่อง ส่วนช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ใช้ภูมิปัญญาเชิงช่างของตนเพื่อควบคุมเรื่องราวที่เขียนเป็นฉากเหตุการณ์หลายฉาก มีความหลากหลายของส่วนประกอบฉาก ให้รวมกันอย่างเป็นเอกภาพ
    จิตรกรรมของไทยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก นับตั้งแต่เรื่องราวที่นำมาเขียนภาพที่เป็นเรื่องจริง เช่น พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอลดจนลักษณะของจิตรกรรมก็เปลี่ยนมาแสดงความเหมือนจริง ตามแนวการเขียนภาพแบบตะวันตกด้วย

    2. จิตรกรรมไทยแบบร่วมสมัย
      ขรัวอินโข่งได้รับการยกย่องนับถือว่า เป็นผู้เริ่มต้นงานจิตรกรรมสมัยใหม่ เพราะในงานจิตรกรรมของท่าน การแสดงอารมณ์ และบรรยากาศ เป็นการแสดงออก ที่เป็นอิสระ และพ้นจากกฎเกณฑ์ของภาพเขียนแบบประเพณีโดยทั่วไป ผลงานของท่านแสดงออกถึงคุณค่าของงานจิตรกรรม ซึ่งอยู่เหนือเหตุผลทางทฤษฎีในการเขียนภาพ เป็นการชี้ทางให้ช่างเขียนยุคต่อๆ มาของไทย ได้มองเห็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่ไม่ซ้ำซาก ไม่ปิดกั้นความคิดของตน ไว้กับรูปแบบทางศิลปะรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 
   ถ้าศึกษางานของจิตรกรไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา จะเห็นอิทธิพลของกลุ่มงานศิลปะของยุโรปได้ชัดเจน เช่น งานของเฟื้อ หริพิทักษ์สวัสดิ์ ตันติสุข ในระยะแรก ได้รับอิทธิพลของอิมเพรสชั่นนิสซึ่ม (impressionism) และคิวบิสซึ่ม (cubism) จิตรกรรมของเกียรติศักดิ์ ชานนนารถ เป็นเซอเรียลลิสซึ่ม (surrealism) ส่วนงานที่เป็นนอนฟิเจอเรทิพ (non - figurative) เห็นได้ชัดเจนในผลงานของจิตรกรไทยเป็นจำนวนมาก เช่น อิทธิพล ตั้งโฉลก ทวน ธีระพิจิตร เดชา วราชุน เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงจากศิลปะแบบประเพณีมาเป็นสากลนั้น เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ได้ เพราะเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ที่เป็นจริงของสังคมในปัจจุบัน
 วิวัฒนาการของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย
    วิวัฒนาการของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ก้าวไปพร้อมๆ กับความเจริญ และวิวัฒนาการทางด้านต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมนุษย์ ในกรณีที่วัฒนธรรมของสังคมใดสังคมหนึ่ง มีการเปลี่ยน แปลงไปตามระบบสังคม งานจิตรกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ก็ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมเช่นเดียวกัน
    แม้ว่าส่วนหนึ่งของการแสดงออกของงานจิตรกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย จะได้รับอิทธิพลจากความเคลื่อนไหวของศิลปะ ซึ่งเป็นสากล แต่ก็ยังมีแนวความคิดที่เป็นอิสระ ไม่มีความผูกพันต่อสิ่งใด โดยเฉพาะ จิตรกรมีโอกาสแสดงแนวความคิดสร้างสรรค์ ในแนวใหม่ มีการทดลองเทคนิควิธีการที่เหมาะสมกับแนวความคิดของแต่ละบุคคล ในบางกรณี งานจิตรกรรมร่วมสมัยอาจอาศัยเค้าโครงของแนวความคิด ด้านจิตรกรรมไทยแบบประเพณี มาสร้างสรรค์แนวทางใหม่ ของจิตรกรรมร่วมสมัยด้วยก็ได้ การศึกษาศิลปะเป็นสิ่งควบคู่มากับความเจริญ และวิวัฒนาการของจิตรกรรมไทยร่วมสมัย เนื่องจากงานจิตรกรรมร่วมสมัย มิได้มีแนวทางตามแบบตระกูลช่างเขียน แบบเดียวกับงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี เช่น ตระกูลช่างนนทบุรี ตระกูลช่างเพชรบุรี ซึ่งสร้างสรรค์งานตามการวางโครงการ และแนวความคิดของครูช่าง แต่จิตรกรรมไทยร่วมสมัยนั้น จิตรกรผลิตงานสร้างสรรค์ตามแนวทางของตน ดังนั้น การศึกษา หาความรู้ และวิวัฒนาการด้านงานศิลปะ ในลักษณะสากล และวิเคราะห์วิจารณ์ลักษณะงาน จึงเป็นสิ่งจำเป็น
    การจัดตั้งสถาบันการสอนทางศิลปะในประเทศไทย เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเริ่มมีการตั้ง "โรงเรียนเพาะช่าง" ขึ้นใน พ.ศ. 2456 เพื่อจัดการ และให้การศึกษาในวิชาการด้านศิลปะหลายสาขา และตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม (โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง) ใน พ.ศ. 2476 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร ใน พ.ศ. 2486 โดยมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี  (Corrado Feroci, ค.ศ. 1892-1926) ชาวอิตาลี เป็นผู้วางรากฐานในการศึกษาเกี่ยวกับวิชาช่าง สาขาจิตรกรรม และประติมากรรม ทั้งในแบบของศิลปะสากล และศิลปะแบบประเพณีไทย มีจุดประสงค์ เพื่อผลิตศิลปิน ผู้ที่ทำงานศิลปะอย่างแท้จริง
   วิวัฒนาการของจิตรกรรมร่วมสมัยของไทย เมื่อพิจารณาช่วงระยะเวลา ของการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณ พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจิตรกรรมร่วมสมัย ของชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติในแถบเอเชียด้วยกัน ลักษณะการสร้างสรรค์ไม่จำกัดกรรมวิธี และเทคนิค มีทั้งสีน้ำ สีฝุ่น สีชอล์ก (chalk) สีน้ำมัน สีอะครีลิก (acrylic) และเทคนิคประสมอื่นๆ ด้วย ศิลปินแต่ละบุคคล ต่างก็มีวิวัฒนาการ ในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมของตนเอง
ในการพัฒนางานจิตรกรรมร่วมสมัยนั้น การแลกเปลี่ยนความรู้ การแสดงงานสร้างสรรค์ และการวิจารณ์งาน เป็นองค์ประกอบสำคัญ ของการพัฒนาการสร้างสรรค์ ของแต่ละบุคคล การ ส่งเสริมคุณค่าของงานจิตรกรรมร่วมสมัย ให้ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องมีการแสดงผลงานต่อสาธารณชน ดังนั้น สถานที่แสดงงาน หรือหอศิลป์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อวิวัฒนาการ ของงานจิตรกรรมร่วมสมัย รวมทั้งการเผยแพร่ และการจัดประกวดผลงานจิตรกรรมก็เช่นเดียวกัน เพราะทำให้ได้เห็นผลงาน ในแนวความคิดต่างๆ เปรียบเทียบกัน ซึ่งเป็นการกระตุ้น ให้ผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ มีพลังในการสร้างสรรค์ต่อเนื่องกัน และมีความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น

   จิตรกรรม (Painting) หมายถึง ผลงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการขีดเขียน การวาด และระบายสี เพื่อให้เกิดภาพ เป็นงานศิลปะที่มี 2 มิติ เป็นรูปแบบไม่มีความลึกหรือนูนหนา แต่สามารถเขียนลวงตาให้เห็นว่ามีความลึกหรือนูนได้ ความงามของจิตรกรรมเกิดจากการใช้สีในลักษณะต่าง ๆ กัน 
    จิตรกรรม (อังกฤษ : painting) เป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการวาด ระบายสี และการจัดองค์ประกอบความงามอื่น เพื่อให้เกิดภาพ 2 มิติ ไม่มีความลึกหรือนูนหนา จิตรกรรมเป็นแขนงหนึ่งของทัศนศิลป์ ผู้ทำงานจิตรกรรม มักเรียกว่า จิตรกร จอห์น แคนาเดย์ (John Canaday) ได้ให้ความหมายของจิตรกรรมไว้ว่า จิตรกรรม คือ การระบายชั้นของสีลงบนพื้นระนาบรองรับ เป็นการจัดรวมกันของรูปทรง และ สีที่เกิดขึ้นจากการเตรียมการของศิลปินแต่ละคนในการเขียนภาพนั้น พจนานุกรมศัพท์ อธิบายว่า เป็นการสร้างงานทัศนศิลป์บนพื้นระนาบรองรับ ด้วยการ ลาก ป้าย ขีด ขูด วัสดุ จิตรกรรมลงบนพื้นระนาบรองรับ
ลักษณะจิตรกรรมไทย
           จิตรกรรมไทย เป็นภาพวาดเขียนที่มีเอกลักษณ์พิเศษตามลักษณะแบบไทย ๆ ที่ได้ทำสืบทอดกันมาจนเป็นประเพณี เน้นความรู้สึก และรูปร่างด้วยเส้น เสริมความงดงามน่าดูขึ้นด้วยสี   แสงเงา นั้นมีปรากฏอยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเจนนัก บางภาพก็ไม่มีเอาเสียเลย จิตรกรรมไทยที่พบเห็นกันอยู่บ่อย ๆ นั้นมี 3 ลักษณะ คือ    
       1. จิตรกรรมไทยลายเส้น ได้แก่ ลวดลายไทย หรือภาพไทยที่เกิดจากการขูด ขีด จารึกให้เกิดเป็นร่องรอยเป็นเส้นด้วยการนำเอาความงามของธรรมชาติมาดัดแปลงปรุงแต่งด้วยความคิดสร้างสรรค์ด้วยอุดมคติทางความงามที่เป็นลักษณะพิเศษแบบไทย  
         
          จิตรกรรมลายเส้นจากวัดศรีชุม                                              ชมพูพาน พญาวานร
        2. จิตรกรรมไทยสีเดียว บางทีเรียกกันว่า “จิตรกรรมเอกรงค์” ได้แก่ ลวดลายไทยหรือภาพไทยที่ระบายสี  หรือทำให้เกิดสีเพียงสีเดียวที่เห็นได้อย่างชัดเจน คืองานประเภทภาพลายรดน้ำซึ่งเป็นการเขียนภาพปิดด้วยทองคำเปลวบนผิวยางรัก เช่น ตู้พระธรรม เป็นต้น  
                                              
                                                บานหน้าต่าง ลายรดน้ำ วัดบวรนิเวสวิหาร
  3. จิตรกรรมหลายสี หรือ “จิตรกรรมพหุรงค์” เป็นการเขียนภาพ หรือลวดลายไทยระบายสีหลาย ๆ สี บางครั้งก็มีการปิดทองคำเปลวประกอบ มีทั้งภาพเดี่ยว ภาพลวดลาย และประกอบกันเป็นเรื่องราวประดับผนัง สมุดข่อย หรือผืนผ้า เป็นต้น  
                                    
         จิตรกรรมฝาผนัง วัดบวรนิเวศวิหาร                                                   จิตรกรรมฝาผนังวัดสามเรือน จังหวัดพิษณุโลก
  จิตรกรรมไทยในอดีตส่วนมากเขียนด้วยสีฝุ่นผสมกาว หรือไข่ขาวบนผนังของสถาปัตยกรรมโยเฉพาะผนังโบสถ์ วิหาร ปราสาท ราชวัง ฯลฯ จึงมักเรียกกันว่า “จิตรกรรมฝาผนัง”  
     นอกจากนั้นยังมีปรากฏที่ตู้พระธรรม สมุดข่อย นับว่ามีคุณค่าทั้งความงาม บันทึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยสมัยต่าง ๆ วรรณคดี ฯลฯ ช่วยเสริมแต่งประติมากรรม และสถาปัตยกรรมให้งดงามเหมาะสมจรรโลงใจให้แก่ผู้พบเห็นมีความสุขได้อย่างประหลาด โดยเฉพาะเรื่องราวของพุทธประวัติ ศาสนา และวรรณคดี ช่วยกล่อมเกลาจิตใจผู้พบเห็นได้อย่างมาก ปัจจุบันนิยมใช้ภาพไทย ประดับตกแต่งอาคาร บ้านเรือนด้วยวิธีการคัดลอกจากจิตรกรรมไทยโบราณ หรือเขียนขึ้นมาใหม่ด้วยการประยุกต์ขึ้น และตามแบบคตินิยมเดิม  
       ความสำคัญของจิตรกรรมไทย
      จิตรกรรมไทย เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลแบบสหวิทยาการ ถือได้ว่าเป็นแหล่งขุมความรู้โดยเฉพาะเรื่องราวจากอดีตทีสำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่ ยาวนาน ประโยชน์ของงานจิตรกรรมไทย นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าของงานศิลปะแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านอื่น ๆ อีกมาก ดังนี้
1. คุณค่าในทางประวัติศาสตร์
2. คุณค่าในทางศิลปะ
3. คุณค่าในเรื่องการแสดงเชื้อชาติ
4. คุณค่าในทางสถาปัตยกรรม
5. คุณค่าในเชิงสังคมวิทยา
6. คุณค่าในด้านโบราณคดี
7. คุณค่าในการศึกษาประเพณีและวัฒนธรรม
8. คุณค่าในการศึกษาเรื่องทัศนคติค่านิยม
9. คุณค่าในการศึกษานิเวศวิทยา
10. คุณค่าในการศึกษาเรื่องราวทางพุทธศาสนา
11.คุณค่าในทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
คุณค่าจิตรกรรมฝาผนัง
   ศิลป พีระศรี. คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง. พระนคร : กรมศิลปากร, 2502. (ND2835.ก1ศ65)
....จิตรกรรมฝาผนังนิยมเขียนเป็นพุทธบูชาตามผนังโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ภายในพระปรางค์ และผนังถ้ำ เรื่องราวที่เขียนส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติ ทศชาติชาดก จุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อให้ผู้ชมเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีคุณค่าในการศึกษาหลักวิชาและแบบอย่างฝีมือช่างที่สืบมาแต่โบราณ ทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
                               หนุมานพบที่ขังพระรามและฆ่าไมยราพตาย
               ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์รอบระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

              สารคดีจิตรกรรมฝาผนังไทย ตอนที่ ๑




              สารคดีจิตรกรรมฝาผนังไทย ตอนที่ ๒






                   วิจิตรงานจิตรกรรมโครงการพระราชดำริ ภายในพระที่นั่งทรงธรรม


                                          



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น