งานช่างไทย เป็นมรดกและทรัพย์สินทางปัญญาจากความคิดสร้างสรรค์ ศิลปกรรม อันล้ำค่าของช่างในอดีต และได้สืบทอดต่อมายังชนรุ่นหลัง รูปแบบของงาน ที่เป็นต้นฉบับอันแท้จริง กับบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญ นับวันจะหมดสูญไป ควรมีการเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับงานช่างศิลป์ไทยทั้งปวง ซึ่งในอดีตได้ผ่านพัฒนาการ เรื่อยมาตามลำดับ จนถึงปัจจุบัน ข้อมูล งานช่างศิลป์ไทยเหล่านี้จะถูกจัด ในรูป สื่อต่างๆที่ทันสมัย เพื่อทำการเผยแพร่ให้กว้างขวาง อันจะนำมาซึ่ง ความเข้าใจซาบซึ้ง เป็นประโยชน์แก่การสืบสานงานช่างศิลป์ไทยต่อไป ไม่ว่าในด้านการอนุรักษ์ศิลปะตามแบบแผนไทยโบราณก็ดี ในด้าน ศิลปะไทยประยุกต์ก็ดี หรือแม้ในแง่มุมของการสร้างสรรค์ศิลปะ ตามสภาวะแวดล้อมของปัจจุบัน
ความจำเป็นเร่งด่วนที่กรมศิลปากรจะต้องจัดทำภารกิจนี้ ให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตาม เป้าหมายคือ การจัดตั้งอาคารถาวร เพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติงาน เป็นศูนย์กลางบริการ จัดกิจกรรม เก็บรักษาเอกสารข้อมูลเพื่อเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ ประชุม ฝึกอบรม จัดแสดงนิทรรศการ โดยวางแผน จัดแบ่งสถานที่ทำการ ณ อาคารใหม่ของสถาบันศิลปกรรม ถนนพุทธมณฑล สาย ๕ จังหวัดนครปฐม
วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นสถานที่เก็บรวบรวมข้อมูล ทะเบียนประวัติ และการช่างไทย ซึ่งประกอบด้วยงานศิลปะสาขาต่างๆ ทั้งแบบโบราณ และร่วมสมัย ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล ข่าวสารระหว่างช่างศิลป์ไทยของแต่ละภูมิภาค และระหว่างประเทศ รวมถึงการใช้เป็นสถานที่จัดการอบรม สาธิต ประชุม สัมมนา และ แสดงงาน นิทรรศการผลงานของช่างศิลปกรรมไทย ทั้งแบบประเพณี และร่วมสมัย เป็นรูปแบบของห้องสมุดรวบรวมเอกสารตำรา ช่างศิลป์ไทย และเอกสาร ทางวิชาการศิลป์อื่นๆ ที่สำคัญ อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับ ความเป็นมาของ ศิลปกรรมไทย และเพื่อประโยชน์แก่ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ใช้เป็นที่ศึกษาและค้นคว้าข้อมูล อีกทั้งยังตระหนักถึงมรดกช่างศิลป์ไทย อันล้ำค่า รู้จักหวงแหนและช่วยกันบำรุงรักษาสืบไป
การอนุรักษ์ศิลปกรรมและสืบทอดงานด้านช่างศิลป์ไทย
ส่วนช่างสิบหมู่ สถาบันศิลปกรรม
ส่วนช่างสิบหมู่ เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑล สาย ๕ กิ่งอำเภอพุทธมณฑล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ๔ อย่าง คือ สร้างสรรค์ ดูแลรักษา ซ่อมบูรณะสืบต่อ เป็นงานศิลปกรรม ประเภทประณีตวิจิตรศิลป คือ งานละเอียดประณีต เป็นงานช่างโบราณ มีหลายลักษณะด้วยกัน คือ
๑. กลุ่มงานช่างเขียนและช่างลายรดน้ำ
ช่างเขียน เป็นหนึ่งในบรรดาช่างสิบหมู่ ช่างเขียนนับว่าเป็น แม่บทแบบแผน หรือหัวใจของการดำเนินงานสร้างผลงานศิลปะ ของช่างแขนงต่างๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะในการทำงาน ช่างต้องอาศัยการวาด การเขียน การกำหนดรูปแบบ หรือร่างแบบ เค้าโครงก่อน แล้วจึงนำไปปฏิบัติงานจริงในงานศิลปะเกือบทุกแขนง
ลักษณะของงานนั้น เป็นแบบประเพณีหรืออุดมคติ คนโบราณนิยม เขียนภาพเป็น พุทธบูชาตามผนัง โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญนี้เรียกว่า จิตรกรรมฝาผนัง และเขียนไว้ตาม สมุดไทยหรือบนผ้าพระบฎอีกด้วย
ช่างลายรดน้ำ เป็นงานประณีตศิลป์ทางด้านตกแต่งอย่างหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบและการทำสืบเนื่องกันมาแต่โบราณ งานช่างลายรดน้ำ จัดเป็นงานช่างศิลป์ประเภทหนึ่งซึ่งรวมอยู่ในหมู่ช่างรัก อันเป็นช่างหนึ่ง ในงานช่างสิบหมู่
คำว่าลายรดน้ำ หมายถึง การเขียนลวดลายหรือรูปภาพ ให้ปรากฎเป็น ลายทอง ด้วยวิธีการปิดทอง แล้วเอาน้ำรด เพื่อให้เกิดเป็นลวดลาย ตามที่ต้องการ
ลักษณะพิเศษของลายรดน้ำ คือ มีกรรมวิธีในการเขียนผิดแผก แตกต่างไปจากงานจิตรกรรมทั่วไป ที่ใช้หลายสีหรือแม้แต่งานจิตรกรรม ประเภทเอกรงค์เองก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะ การเขียนลายรดน้ำ จะใช้น้ำยาหรดาล เขียนลงบนพื้นซึ่งทาด้วยยาง ที่ได้จากต้นรัก เมื่อเขียนลาย เสร็จแล้วจึงเช็ดรักแล้วปิดทอง
งานช่างลายรดน้ำ เป็นงานประณีตศิลป์ที่มีความสำคัญมาก สำหรับ ตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ทั้งของชาวบ้าน เครื่องใช้ในพุทธศาสนา ตลอดไปจนถึงในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่มีหลักฐานปรากฎมา ตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
งานช่างแขนงนี้ จึงเป็นมรดกทางศิลปกรรมที่มีคุณค่ายิ่งของไทย มีเอกลักษณ์โดดเด่น เฉพาะตัวทั้งวิธีการเขียนลวดลาย การเขียนและ การใช้เส้น การปิดทอง สีสันที่อ่อนช้อยนุ่มนวลแสดงให้เห็นถึง จินตนาการของช่างไทย แต่ละยุคสมัยสะท้อนความเป็นอยู่ของสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยในอดีตเป็นอย่างดี
๒. กลุ่มงานช่างโลหะและช่างศิราภรณ์
การหล่อโลหะ ได้มีบทบาทต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ มาตั้งแต่ ครั้งอดีตกาล จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่ามนุษย์รู้จักนำโลหะ จากธรรมชาติ มาหลอมหล่อเป็นเครื่องมือใช้อย่างง่ายๆ มาตั้งแต่ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และมีพัฒนาการของงานช่างหล่อมาโดยตลอด จนถึงปัจจุบันนี้ การหล่อโลหะได้เจริญขึ้นมาก มีการใช้โลหะ หลากหลายชนิด และมีรูปแบบการหล่อสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ในทำเนียบช่างศิลป์ไทยนั้น งานช่างหล่อจัดเป็นงานช่างที่สำคัญยิ่ง แขนงหนึ่งในบรรดาช่างสิบหมู่ งานช่างชนิดนี้ มักเป็นงานช่าง ที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ การหล่อพระพุทธรูป ซึ่งพระพุทธรูปของไทยนั้น ก็ได้มีการสร้างด้วย วิธีการหล่อจากโลหะ มานานแล้วเช่นกัน
การหล่อพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้น จะต้องอาศัย ฝีมือช่างหลายแขนง ร่วมกัน นับตั้งแต่งานปั้นขึ้นรูปหุ่น ซึ่งต้องอาศัยฝีมือของช่างปั้นเป็นสำคัญ
หัวโขน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งในการแสดงหัวโขน และเป็น สิ่งที่บรรดานาฏศิลปิน ให้ความเคารพนับถือมาก เพราะเป็นเสมือนครู ดังนั้นจึงต้องมีการบรวงสรวงทำพิธีอัญเชิญ เทพยดาและรำลึกถึง ครูบาอาจารย์ ทั้งก่อนการแสดงและก่อนที่ทำการสร้างหัวโขน
ศิลปะการสร้างหัวโขน มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และถือเป็นงานช่าง ที่สำคัญงานหนึ่งในบรรดาช่างสิบหมู่ โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งนี้เพราะนาฎกรรมการแสดงโขนเฟื่องฟูมาก โดยเฉพาะในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทั้งยังทรงอุปถัมภ์ ด้านการแสดง การสร้างหัวโขน ตลอดจนช่างทำหัวโขน ในสมัยนั้น
ช่างทำหัวโขน จะต้องมีความเข้าใจเรื่องราว และลักษณะของ ตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์เป็นอย่างดี เพื่อจะได้ทราบและถ่ายถอด ออกมาเป็นหัวโขน ซึ่งต้องอาศัยการค้นคว้าและการถ่ายทอดจากครูช่าง ในสมัยโบราณ (ที่มา: กรมศิลปากร)
กระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ประเทศเราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระประมุขของชาติที่ทรงพระปรีชาสามารถ และเข้าพระราชหฤทัยประโยชน์ของทรัพยากรทุกประเภทอย่างลึกซึ้ง จนเกิดโครงการ "พัฒนา" ในพระราชดำริเป็นตัวอย่างให้หน่วยงานรัฐบาล และเอกชน ดำเนินตามจนบรรลุความสำเร็จมากมายในขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัส ให้เห็นถึงความสำคัญของทรัพยากรวัฒนธรรมประเภทโบราณสถาน และโบราณวัตถุไว้ด้วย เพื่อให้ช่วยกันอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าไว้ถึง ๒ ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนิน เปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๐๔ มีความดังนี้
"โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถาน ทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นของมีคุณค่า และจำเป็น แก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และโบราณคดี เป็นเครื่องแสดงความรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่ในอดีตกาล สมควรจะสงวนรักษาให้คงถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล มีผู้กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีผู้สนใจ และหาซื้อโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ ส่งออกไปต่างประเทศกันมาก ถ้าต่อไปภายหน้า เราจะต้องไปศึกษา หรือชมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทยเราเองในต่างประเทศ ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และน่าอับอายมาก เราจึงควรจะขวนขวาย และช่วยกันหาทางรวบรวมโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุของเรา แล้วจัดสร้างพิพิธภัณฑสถาน เก็บรักษาไว้จะเป็นการดีที่สุด"
กระแสพระราชดำรัสครั้งที่ ๒ เป็นผลจากเหตุการณ์ระคายพระราชหฤทัยในวโรกาส เสด็จประพาสอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ว่า
"...ได้ทอดพระเนตรเห็นอาคารสมัยใหม่หลังหนึ่ง สร้างขึ้นบนที่ ซึ่งเคยเป็นซากโบราณสถาน มีพระราชดำรัสว่า
การสร้างอาคารสมัยนี้ คงจะเป็นเกียรติ สำหรับผู้สร้างคนเดียว แต่เรื่องโบราณสถานนั้น เป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย"
ม.ล. ปิ่น กล่าวต่อไปว่า
"...เมื่อได้ยินกระแสพระราชดำรัสนั้น ก็รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงเตือนสติคนไทย ที่นิยมความเจริญทางวัตถุ ยิ่งกว่าความเจริญทางจิตใจ โบราณวัตถุสถานเหล่านี้ มีคุณค่าล้นเหลือ ถ้าไม่มีให้เราเห็นแล้ว ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจแจ่มแจ้งว่า บรรพบุรุษของเราเคยทำอะไร อย่างไร และอยู่ที่ไหน ซึ่งสรุปได้ว่า การสร้างชาติ ประกอบด้วยคุณธรรม ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาถึงเราในทุกวันนี้ ถ้าโบราณวัตถุสถานเหล่านั้นสูญสิ้นไปหมด ความรู้สึกอย่างที่ข้าพเจ้ารู้สึก ก็จะเลือนลางลง เมื่อคนเราไม่มีอะไรผูกมัดทางจิตใจแล้ว ก็ย่อมจะนึกถึงประโยชน์ส่วนตน หรือเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นธรรมดา อยู่เอง"
"...ในการที่มีโบราณวัตถุสถาน และปูชนียสถานอยู่เป็นอันมาก ถ้าเรารู้จักวิธีนำมาใช้ เกี่ยวกับการอบรมจิตใจของเยาวชน ก็จะเป็นประโยชน์มาก..."
ประโยชน์ของโบราณสถานและโบราณวัตถุ
กระแสพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และความคิดเห็นของ ม.ล. ปิ่น มาลากุล เกี่ยวกับประโยชน์ของโบราณสถาน และโบราณวัตถุ สรุปได้ดังนี้
๑. แสดงความเป็นมาของประเทศ
๒. เป็นเกียรติและความภาคภูมิใจของคนในชาติ
๓. เป็นสิ่งที่โยงเหตุการณ์ในอดีต และปัจจุบันเข้าด้วยกัน
๔. เป็นสิ่งที่ใช้อบรมจิตใจของคนในชาติได้
นั่นเป็นทัศนะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นนักพัฒนาเต็มพระองค์ ต่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ เมื่อเกือบ ๓๐ ปีมาแล้ว ในขณะที่พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งยังใช้กันมาจนทุกวันนี้ ไม่ได้แสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ชัดเจน อย่างที่ปรากฏในพระราชดำรัสเลยว่า โบราณสถาน และโบราณวัตถุสำคัญอย่างไร จึงต้องช่วยกันอนุรักษ์ และการอนุรักษ์นั้น เป็นหน้าที่ของประชาชนทั่วไปด้วยหรือไม่ เหมือนที่กฎหมายคุ้มครองสมบัติวัฒนธรรม ของประเทศอื่นบางประเทศ เขาระบุไว้
ในปัจจุบัน เมื่อทรัพยากรของโลกเหลือน้อยลง และวิชาการก้าวหน้าขึ้น สิ่งที่เคยคิดกันว่า มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ และอาจดีกว่า "สินค้า" บางประเภทด้วยซ้ำไป เพราะมีระยะเวลาใช้ประโยชน์ ที่เรียกกันว่า ชีวิตทางเศรษฐกิจ ยาวนานกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ
ตัวอย่างการสร้างสาธารณูปโภคบางอย่าง เช่น เขื่อน ซึ่งอาจต้องลงทุนหลายพันหลายหมื่นล้านในการก่อสร้าง และบำรุงรักษา ให้ใช้งานได้ไปตลอดชีวิตของมัน ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ ปี ในขณะที่โบราณวัตถ ุและโบราณสถาน มีอายุใช้งานได้เกือบตลอดไป ดังจะเห็นได้ว่า บางสถานที่ และวัตถุบางชิ้น มีอายุหลายร้อย ถึงหลายแสนปีมาแล้ว
ประเทศต่างๆ เกือบทั่วโลก ได้หันมาฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมให้คงอยู่ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นเกียรติและความภาคภูมิใจ ไม่ให้ประเทศอื่นๆ ดูถูกว่า เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน เพราะไม่มีประวัติศาสตร์ของตนเอง และเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยการจัดการโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ให้เป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง คือ "การท่องเที่ยววัฒนธรรม" ทำรายได้ให้แก่ท้องถิ่นที่มีมรดกวัฒนธรรมดังกล่าว และแก่ประเทศชาติโดยส่วนรวมเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะเหตุว่า การคมนาคมในโลกปัจจุบันดีมาก การติดต่อกันและกันสะดวกขึ้น รสนิยมในเรื่องเครื่องอุปโภคบริโภคจึงคล้ายๆ กัน แต่มีสิ่งของประเภทเดียวที่ไม่เหมือนกันก็คือ "มรดกวัฒนธรรม" ที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ จึงเป็น "สินค้า" ที่ดึงดูดคนให้เข้าไปเยี่ยมชม
โบราณสถาน และโบราณวัตถุ เป็น "สินค้า" ที่มีคุณสมบัติล้ำเลิศกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ เพราะว่าเราจัดการให้คนจ่ายเงิน "ซื้อ" ความรู้อย่างเดียว เขาไม่ได้เอาตัวสินค้าไปด้วย ธุรกิจประเภทนี้จึงเป็นธุรกิจที่ทำรายได้เหนือกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ เพราะไม่ได้เบียดบังเอาโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมบัติของคนทุกคนในชาติไปขาย เอารายได้เป็นของตัวเอง อย่างธุรกิจค้าโบราณวัตถุที่ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน ทั้งถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย อย่างทุกวันนี้
รายได้จากการท่องเที่ยววัฒนธรรมมาจากกิจกรรมหลายอย่าง ไม่ใช่ค่าเข้าชมอย่างเดียว แต่เป็นค่าอาหาร ค่าพาหนะเดินทาง ค่าพักแรม ค่าซื้อของที่ระลึก และค่าบริการต่างๆ ซึ่งรวมแล้ว นักท่องเที่ยวแต่ละคนจะต้องใช้จ่ายไม่น้อยเลย แต่ละประเทศจึงระดมปรับปรุงโบราณสถาน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบอุทยานประวัติศาสตร์บ้าง หรือเป็นโบราณสถานโดดๆ บ้าง จนเกิดปัญหาขึ้นในหลายประเทศที่ดำเนินการไป โดยที่ยังไม่มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร และงบประมาณ ตลอดจนหลักการ และแนวทาง เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ซึ่งต้องฝึกฝนเล่าเรียนให้เข้าใจถ่องแท้ก่อน ความไม่พร้อมทำให้โบราณสถานหลายแห่ง กลายเป็นปัจจุบันสถานไปอย่างน่าเสียดาย
สมบัติวัฒนธรรม
เมืองไทยมั่งคั่งด้วยทรัพย์ในดิน สินในน้ำ ที่บรรพบุรุษสร้างไว้เป็นสมบัติวัฒนธรรม หรือมรดกวัฒนธรรม ตกทอดมาถึงเราเป็นจำนวนมาก ไม่แพ้ประเทศใดในโลก ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ด้วยจำนวนประชากร หรือเนื้อที่ขนาดไหนก็ตาม มองไปรอบๆ ตัว สิ่งที่เรามี เราเป็นเจ้าของนั้น มีลักษณะเฉพาะตัว หรือเอกลักษณ์ แทบจะทั้งนั้น และนั่นเอง ที่ทำให้เราเป็นเรา เขาเป็นเขา ไม่ใช่เราเป็นส่วนหนึ่งของเขา หรือเขาเป็นส่วนหนึ่งของเรา ทุกคนมีเอกลักษณ์ หมายตลอดรวมไปทุกกลุ่ม ทุกสังคมเมือง และทุกประเทศ สมบัติวัฒนธรรมอันมากมีของเรา ปรากฏย้อนหลังไปเป็นหมื่นเป็นแสนปีมาแล้ว เริ่มแต่มีคนมาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นครอบครัว แล้วรวมเป็นกลุ่มหลายกลุ่ม เป็นหมู่บ้าน แล้วเป็นเมือง เป็นแคว้น จนเป็นประเทศชาติต่อมา จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นประจักษ์พยาน ที่สะท้อนให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งได้ว่า ดินแดนที่เป็นประเทศเราคงอุดมสมบูรณ์พอตัว จึงได้มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ มาตั้งถิ่นฐานทำกิน ต่อเนื่องกันไม่ขาดระยะ ดังปรากฏเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
จากนิยามที่กล่าวแล้ว เห็นได้ว่า สิ่งที่เป็นและเกี่ยวข้องกับโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานนั้น มีมากมาย ทั้งที่เป็นของที่คนสร้างหรือดัดแปลงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ ที่ทำด้วยหิน โลหะ ไม้ ฯลฯ ที่เป็นเครื่องมือ หรืออาวุธ (ขวาน มีด หอก ค้อน เบ็ด ฉมวก) ของใช้สอย (ถ้วย ชาม ผ้า) เครื่องประดับ (กำไล สร้อย ลูกปัด ต่างหู ฯลฯ) ประติมากรรม ฯลฯ ที่พบหรืออยู่ตามที่ต่างๆ ที่นับเป็นโบราณสถาน แหล่งโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นถ้ำ เพิงผา บ้านเรือน วัง หรือวัด ก็ได้ แต่ในประเทศเรา โบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียน ส่วนมากเป็นศาสนสถาน หรือปูชนียสถานในอดีตหลายแห่ง ที่ใช้สอยสืบต่อกันมาแต่ต้น จนปัจจุบัน...ไม่เคยตาย เรียกตามข้อเท็จจริง ของการใช้สอยว่า "อนุสาวรีย์ที่ยังมีชีวิต" ส่วนที่เลิกใช้ประกอบพิธีแล้ว จนกลายเป็นโบราณสถานจริงๆ เรียก "อนุสาวรีย์ที่ตายแล้ว"
โบราณสถาน หรือแหล่งโบราณคดีของประเทศเรา แบ่งตามสมัยได้เป็น ๒ สมัย คือ สมัยก่อนประวัติศาสตร์สมัยหนึ่ง และสมัยประวัติศาสตร์อีกสมัยหนึ่ง แต่ละสมัยแบ่งย่อยออกไปได้อีกมากมาย
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
หมายถึง สมัยที่มนุษย์ยังไม่มีตัวหนังสือสำหรับบันทึกเรื่องต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรนั่นเอง
สมัยประวัติศาสตร์
หมายถึง สมัยที่มนุษย์ บันทึกเรื่องราวเหตุการณ์ และความรู้สึกนึกคิด เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
แต่ถ้าแบ่งตามการใช้สอย ก็อาจแบ่งแหล่งโบราณคดีได้เป็น
๑. แหล่งที่อยู่อาศัย (มีคูคันดิน หรือไม่มี)
๒. แหล่งพิธีกรรม (สุสาน ศาสนสถาน)
๓. แหล่งอุตสาหกรรม (เตาเผาถ้วยชาม แหล่งโลหะกรรม เหมืองแร่ แหล่งสกัดหิน ฯลฯ)
ผลการศึกษาแหล่งเหล่านี้ ทำให้สามารถประมวลความเป็นมา ของประเทศได้ทุกสมัย หลายเรื่องหลายเหตุการณ์ แม้จะขาดรายละเอียดอยู่มากก็ตาม เพราะการศึกษาบางแหล่งของเรา ทำได้เพียงหยาบๆ และแหล่งจำนวนมากถูกทำลายไปแล้ว
การอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย
การอนุรักษ์วัฒธรรมไทยนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือกันของคนไทยทุกคนมีวิธีการ ดังนี้
1. ศึกษา ค้นคว้า และการวิจัยวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งที่มีการรวบรวมไว้แล้วและยังไม่ได้ศึกษา เพื่อทราบความหมาย และความสำคัญของวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นมรดกของไทยอย่างถ่องแท้ ซึ่งความรู้ดังกล่าวถือเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต เพื่อให้เห็นคุณค่า ทำให้เกิดการยอมรับ และนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม ต่อไป
2. ส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่า ร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติและของท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจแก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยนและตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างเหมาะสม
3. รณรงค์ให้ประชาชนและภาคเอกชน ตระหนักในความสำคัญ ของวัฒนธรรม ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้การรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุน ประสานงานการบริการความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์สำหรับจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม
4. ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการใช้ศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
5. สร้างทัศนคติ ความรู้ และความเข้าใจว่าทุกคนมีหน้าที่เสริมสร้าง ฟื้นฟู และการดูแลรักษา สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เป็นสมบัติของชาติ และมีผลโดยตรงของความเป็นอยู่ของทุกคน
6. จัดทำระบบเครื่อข่ายสารสนเทศทางด้านวัฒนธรรมเพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงาน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ สามารถเลือกสรร ตัดสินใจ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตทั้งนี้สื่อมวลชนควรมีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย
การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของไทยในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น มุ่งศึกษาให้รู้ความเป็นมาในอดีต และสภาพการณ์ในปัจจุบัน
2. การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย
3. การฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม
4. การพัฒนา ควรริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพควรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอดใช้ในการผลิต การตลาด และการบริหาร ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
5. การถ่ายทอด โดยการนำภูมิปัญญาที่ผ่านมาเลือกสรรกลั่นกรองด้วยเหตุและผลอย่างรอบคอบและรอบด้าน แล้วไปถ่ายทอดให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์และปฎิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ
6. ส่งเสริมกิจกรรม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
7. การเผยแพร่แลกเปลี่ยน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ด้วยสื่อและวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
8. การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ผู้ดำเนินงานให้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น